ประวัติและความเป็นมาของตุ๊กตาโคเคชิ

มีใครเคยได้ตุ๊กตาหัวกลม ๆ ท่อนยาว ๆ ทำจากไม้ เป็นของฝากจากญี่ปุ่นกันไหม หลาย ๆ คนอาจจะเคยซื้อติดมือกลับบ้านบ้าง ได้รับเป็นของฝากบ้าง แต่อาจจะไม่รู้จักความเป็นมากันเท่าไร ตุ๊กตาทำจากไม้ที่ดูมีเอกลักษณ์ และดูญี่ปุ่นมาก ๆ ที่ว่า มีชื่อว่า “ตุ๊กตาโคเคชิ” วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักที่มาที่ไปของตุ๊กตาโคเคชิกัน

เกิดขึ้นในสมัยนารา แต่แพร่หลายในสมัยเอโดะ

ว่ากันว่าประวัติศาสตร์ของตุ๊กตาโคเคชินั้น ย้อนกลับไปถึง 1,200 ปีตั้งแต่ในสมัยนาราเลยทีเดียว โดยโคเคชิที่เก่าแก่ที่สุดเป็นเจดีย์ขนาดเล็กที่ทำจากไม้ เนื่องจากจักรพรรดิในสมัยนั้นได้สั่งให้สร้างเจดีย์ที่เอาไว้เป็นอนุสรณ์ ภายในเจดีย์ใส่คาถาในทางพระพุทธศาสนาเข้าไป เพื่ออธิษฐานขอให้ประเทศสงบสุข ปลอดภัย
เมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่สมัยเฮอัน มีตำนานเล่าว่า เจ้าชายแห่งจักรรพรรดิมนโตะคุได้สอนเทคนิคการใช้แท่นหมุน “โรคุโระ” เพื่อผลิตเป็นชามไม้ต่าง ๆ ให้กับช่างไม้ หลังจากที่เหล่าช่างไม้ได้เรียนรู้วิธีแล้ว ช่างไม้ก็ได้ไปตามออนเซ็นในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อหาไม้ที่คุณภาพดีที่สุด
หลังจากที่ช่างไม้ได้ผลิตภาชนะไม้ต่าง ๆ ออกมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนนั้นเองก็นำไม้ที่เหลือมาทำเป็นของเล่นไม้สำหรับเด็ก ขายเป็นของที่ระลึกให้คนที่มาแช่ออนเซ็น ส่วนใหญ่แล้วลูกค้าที่มาออนเซ็นเป็นเกษตรกรที่มาคลายความเหนื่อยล้า หลังจากหมดฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว ตอนกลับจากออนเซ็นนี้เองก็เลยซื้อตุ๊กตาโคเคชิมาเป็นของฝากให้เด็ก ๆ จนต่อมาก็ค่อย ๆ แพร่หลายไปทั่ว และเริ่มแพร่หลายมากในสมัยเอโดะ

“โคเคชิ” กับที่มาของชื่อ

ที่มาและความหมายของชื่อ “โคเคชิ” นั้นไม่เป็นที่แน่ชัด มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาหลายอย่างเลย ยกตัวอย่างสันนิษฐานแรก เชื่อว่ามาจากทรงผมเคชิโบซึ (芥子坊主) หรือทรงผมของเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงในยุคเอโดะ เนื่องจากเด็ก ๆ ในสมัยนั้นมักจะโกนผมให้โล้นและเหลือผมไว้แค่ด้านหน้า เพื่อให้ง่ายต่อดูแล ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับผลฝิ่น (けし เคชิ) จนเป็นที่มาของชื่อตุ๊กตาโคเคชิ ยังมีสันนิษฐานอื่นอีก เช่น เพราะเป็นตุ๊กตาที่มาจากการเหลาไม้ ก็เลยชื่อ โคเกชิ (木削 แปลว่าการเหลาไม้)
หรือทฤษฎีที่ค่อนข้างน่าเศร้าหน่อย มาจากคำว่า โคเคชิ (子消し), โคเคชิน (子化身) ที่ว่ากันว่ามาจากวัฒนธรรมในช่วงหลังแพ้สงคราม ช่วงนั้นได้มีการลดประชากรเด็กไม่ให้เกิดมากเกินไป จึงมีการทำแท้ง ฝากลูกให้คนอื่นเลี้ยงหรือให้ลูกตัวเองออกจากบ้าน ตุ๊กตาโคเคชิจึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการระลึกถึงลูก แต่ทฤษฎีนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด จึงยังคงเป็นเพียงเรื่องเล่าต่อกันมาเท่านั้น
และอันที่จริงตุ๊กตาโคเคชินั้นคือชื่อที่เพิ่งเรียกเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ก่อนเรียกกันหลายชื่อมาก ไม่ว่าจะเป็น คิเดโคะ เดโคโรโคะ เป็นต้น แตกต่างกันไปตามพื้นที่ จนในปี 1940 กลุ่มคนรักตุ๊กตาโคเคชิได้จัดประชุมโคเคชิโตเกียวขึ้น และได้มีการกำหนดให้เรียกว่า “โคเคชิ” ให้ตรงกัน

ตุ๊กตาโคเคชิแบบต่าง ๆ

ตุ๊กตาโคเคชิถูกผลิตเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน หลาย ๆ พื้นที่ก็ยังคงแบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่บางแห่งก็ได้ผลิตออกมาในรูปแบบใหม่ ปรับเปลี่ยน ประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย หากแบ่งประเภทแล้วก็จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือแบบดั้งเดิมและแบบสร้างสรรค์

โคเคชิแบบดั้งเดิม

ส่วนใหญ่จะผลิตในภูมิภาคโทโฮคุ และภายในภูมิภาคก็จะมีลักษณะเด่นแตกต่างกันไปตามแต่ละแหล่งการผลิต มีทั้งหมด 11 แบบ โดยจังหวัดมิยางิมีแหล่งผลิตเป็นจำนวนมาก และเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในการผลิตตุ๊กตาโคเคชิ ภายในจังหวัดยังมีพิพิธภัณฑ์โคเคชิด้วย

โคเคชิแบบสร้างสรรค์

นอกจากโคเคชิแบบดั้งเดิมแล้ว ยังมีตุ๊กตาโคเคชิแบบสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง รวมถึงยังมีตุ๊กตาโคเคชิเป็นรูปมิกกี้เม้าส์หรือคาแรคเตอร์ต่าง ๆ ที่โด่งดังเลยเป็นตุ๊กตาโคเคชิที่ผลิตในจังหวัดกุนมะ เนื่องจากที่นั่นมีเมืองที่มีช่างไม้ผลิตของเล่นไม้เป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันตุ๊กตาโคเคชิอาจจะไม่ได้เป็นของเล่นสำหรับเด็ก ๆ แล้ว แต่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือและความประณีตของช่างไม้ รวมถึงเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นได้ดีเลยทีเดียว เห็นแล้วก็อยากซื้อมาเก็บสะสมไว้บ้างเลย
พิลโลดอลรับผลิตตุ๊กตา หมอนตุ๊กตา สามารถสั่งผลิต รวมถึงขึ้นตัวอย่างได้ทันที พร้อมให้คำปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ติดต่อได้เลยที่ 081-733-3017

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *