ตุ๊กตาเน่าสุดรัก

สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรรู้เกี่ยวกับ “ตุ๊กตาเน่า” ของเด็ก

ตุ๊กตาตัวแรกที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่มอบให้ คือ ตัวแทนของความรัก

สำหรับเด็ก ๆ แล้ว ตุ๊กตาตัวแรกที่ได้รับจากพ่อแม่ อาจจะไม่ใช่แค่เพียงตุ๊กตาผ้าธรรมดา แต่ตุ๊กตาตัวนั้น คือ “ตัวแทนความรักจากพ่อแม่ที่มอบให้พวกเขาในวัยเยาว์” ตุ๊กตาตัวนั้นมักจะอยู่เคียงข้างคอยดูแลและมอบความอบอุ่นให้กับเด็ก ๆ ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ เด็ก ๆ ที่มีตุ๊กตาเน่า ผ้าเน่า หรือหมอนเน่า และของเน่าต่าง ๆ เหล่านี้จึงรักและหวงแหนสิ่งเหล่านั้นมาก

โดนัลด์ วูดส์ วินนิคอตต์ (2002) เป็นผู้เริ่มใช้คำว่า “วัตถุเปลี่ยนผ่าน (Transitional Object)” ในการเรียก “ผ้าเน่า ตุ๊กตาเน่า หมอนเน่า” เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เองที่สามารถช่วยให้เด็ก ๆ เปลี่ยนผ่านจากสภาวะเป็นหนึ่งเดียวกับแม่ของเขาไปสู่การรับรู้ว่า “ตัวเขา” และ “แม่” เป็นคนละคนกัน

สิ่งของเหล่านี้เป็นตัวแทนของแม่ จึงทำให้เด็ก ๆ รู้สึกปลอดภัยเมื่อแม่ไม่สามารถอยู่กับเขาบางเวลา เช่น เวลาที่นอน ถ้าเขามีสิ่งเหล่านี้ในอ้อมกอด ก็เหมือนมีแม่อยู่ใกล้ ๆ เขา

ดังนั้นผู้ใหญ่อย่าแอบนำสิ่งเหล่านี้ไปทิ้ง จนกว่าเด็ก ๆ จะพร้อมปล่อยมือจากสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเขาเอง สิ่งที่ผู้ใหญ่สามารถทำได้ คือ การกำหนดกติกาในการพาตุ๊กตาไปที่ใดได้บ้าง และสอนให้เด็ก ๆ ดูแลรับผิดชอบตุ๊กตาของตัวอย่างไร เพื่อให้ตุ๊กตาของพวกเขาไม่ทำให้ตัวเองหรือผู้อื่นเดือดร้อน

ตุ๊กตาที่เก่าลง คือ ตัวแทนของการเติบโต

เด็ก ๆ ผูกพันกับตุ๊กตา เพราะตุ๊กตาอยู่ทุกช่วงเวลาในชีวิตของพวกเขา ทำให้วันหนึ่งเมื่อเด็ก ๆ เติบโตขึ้น ในขณะที่ตุ๊กตาของพวกเขาเก่าลง เด็ก ๆ จึงรู้สึกกลัวว่า ตุ๊กตาจะเป็นอะไร จึงพยายามรักษาตุ๊กตานั้นไว้อย่างดีที่สุด ไม่ให้ผู้ใหญ่นำมันไปทิ้ง เพื่อที่จะให้ตุ๊กตาอยู่กับพวกเขานานกว่านี้อีกหน่อย จนกว่าวันที่เด็ก ๆ จะพร้อมที่จะเติบโตต่อไป โดยไม่ต้องมีตุ๊กตาอีกต่อไป

สำหรับผู้ใหญ่หลายคน เราอาจจะเคยมีตุ๊กตา ของเล่น ผ้าผืนแรกในชีวิตที่เรารักมาก ๆ แต่ในวันหนึ่งที่สิ่งเหล่านั้นเก่าลงเกินกว่าจะเก็บเอาไว้ เราก็ทำได้เพียงเก็บความทรงจำเอาไว้กับเราต่อไปให้นานที่สุด และเติบโตไปข้างหน้าเพื่อเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

ตุ๊กตาสามารถสอนให้เด็ก ๆ อ่อนโยน และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ในวันที่เด็ก ๆ ยังไม่ได้ไปโรงเรียนและได้เล่นกับเด็กคนอื่น ๆ ตุ๊กตาอาจจะเป็นเพื่อนคนเดียวของพวกเขา เด็ก ๆ มักจะนอนกอดตุ๊กตาตัวนั้นเสมอ และมักจะพาตุ๊กตาตัวนั้นไปในทุก ๆ ที่ เวลาที่เด็ก ๆ คุยและเล่นกับตุ๊กตาของพวกเขา เด็ก ๆ ต้องคิดและจินตนาการไปด้วยว่า ตุ๊กตาคิดอะไรอยู่ และจะพูดตอบเขาอย่างไร ซึ่งการเล่นเช่นนี้เป็นเสมือนการจำลองสถานการณ์ที่เด็ก ๆ จะได้ฝึกเข้าใจผู้อื่น

ตุ๊กตาจึงสอนให้เด็ก ๆ มีความเห็นอกเห็นใจ และค่อย ๆ ลดการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางลง เพื่อจะได้เติบโตขึ้นไปสู่วัยต่อไป

สุดท้ายวันหนึ่งที่เด็ก ๆ โตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาอาจจะจำไม่ได้แล้วว่าตุ๊กตาตัวแรกของเขาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่พวกเขาจะยังคงจดจำช่วงเวลาแห่งความอบอุ่นได้เสมอ ทั้งกลิ่นอายของวัยเยาว์ และสัมผัสแห่งรักจากพ่อแม่ และตุ๊กตาเพื่อนรักของเขา

…”เชื่อไหมว่า…เราทุกคนล้วนมีกลิ่น รสสัมผัส ที่สามารถพาเราย้อนกลับไปในวันที่เราเป็นเด็กได้” …

พิลโลดอลรับผลิตตุ๊กตา หมอนตุ๊กตา
สามารถสั่งผลิต รวมถึงขึ้นตัวอย่างได้ทันที
พร้อมให้คำปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้
จ่ายติดต่อได้เลยที่ 081-733-3017

อ้างอิง : Wilson, A, & Robinson, N M (2002) Transitional objects and transitional phenomena Editors-in-Chief

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *